Last updated: 18 ธ.ค. 2566 | 1013 จำนวนผู้เข้าชม |
การวัดค่าต่างๆที่วัดค่าได้จะต้องมีการบันทึกไว้ทันทีในสมุดสนามที่มีคุณภาพดี การบันทึกข้อมูลจะต้องชัดเจน สมบูรณ์ สามารถตีความได้ง่ายและถูกต้อง โดยอาจบันทึกเป็นรูปแบบตาราง ร่างเป็นภาพและมีข้อความบรรยาย ขั้นตอนของการดำเนินงานควรเป็นไปตามลำดับ ตั้งแต่เริ่มการรังวัด บันทึกข้อมูลและตรวจสอบค่าที่บันทึกได้
ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีอุปกรณ์การเก็บข้อมูลหรือเครื่องมือการบันทึกข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่นำมาใช้ในงานสำรวจ แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่สามารถทดแทนการจดบันทึกข้อมูลลงในสมุดสนามได้ทั้งหมด โดยเฉพาะการร่างเป็นภาพและข้อมูลเชิงบรรยาย การบันทึกข้อมูลแบบใช้อุปกรณ์ช่วยในการเก็บข้อมูลนั้นจึงเหมาะกับข้อมูลในเชิงตัวเลขมากกว่า
นอกจากการบันทึกค่าการวัดแล้ว ยังควรมีการบันทึกข้อมูลอื่นๆประกอบด้วย ได้แก่
- วัน เวลา ที่เริ่มงาน และเลิกงาน
- สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปในวันที่ปฏิบัติงาน
- รายชื่อผู้ร่วมปฏิบัติงาน และหน้าที่ของแต่ละคน
- ชนิดเครื่องมือและอุปกรณ์ หมายเลขประจำเครื่องมือที่ใช้ในการวัด
ข้อแนะนำการใช้บันทึกสมุดสนาม
1.สมุดที่ใช้ควรเป็นสมุดปกแข็ง ใช้ดินสอไส้แข็ง 2-4H หรือปากกาลูกลื่น
2.ควรขึ้นหน้าใหม่ทุกครั้งเมื่อเริ่มงานในแต่ละวัน
3.เขียนตัวบรรจงไม่ควรเขียนหวัดให้เป็นแนวตรงอย่าเขียนเลยช่อง
4.เขียนตัวหนังสือที่มีขนาดสม่ำเสมอ สูงครึ่งบรรทัด และไม่ชิดกันมากเกินไป
5.เขียนจุดทศนิยมและตัวเลขศูนย์ให้ครบถ้วน
6.การเขียนแผนผังพยายามให้สัดส่วนขนาดที่ถูกต้องพอประมาณ
7.ภาพร่างหรือแผนผังควรเขียนทิศเหนือโดยประมาณกำกับด้วย
8.ใช้สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายในแบบร่างให้มากเพื่อง่ายต่อการเข้าใจ
9.ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลตัวเลขที่บันทึกได้บ่อยๆเท่าที่ทำได้
10.ไม่ควรลบข้อมูลที่ผิดทิ้ง แต่ให้ขีดคร่อมและเขียนตัวที่ถูกต้องไว้ข้างบนแทน
การใช้สมุดสนามช่วยในการจดเก็บบันทึกข้อมูลจะช่วยให้เราสามารถนำข้อมูลนั้นมาอ้างอิงในการทำงานสำรวจต่างๆได้ และมีความละเอียดครบถ้วนมากกว่าการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการเก็บบันทึกข้อมูลดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
9 ก.ย. 2567
26 ส.ค. 2567
2 ก.ย. 2567
20 ส.ค. 2567